วันเสาร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

วิธีการวิเคราะห์ปัญหากฎหมายขั้นสูง

วิธีการวิเคราะห์ปัญหากฎหมายขั้นสูง

        การวิเคราะห์ปัญหากฎหมายขั้นสูงต้องวิเคราะห์ถึงความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ ความเชื่อมโยง และการบูรณาการระหว่าง ประเด็น - ทฤษฎี - หลักกฎหมาย - หลักวิชาการ - ข้อสนับสนุน

ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ ความเชื่อมโยง และการบูรณาการระหว่าง ประเด็น - ทฤษฎี - หลักกฎหมาย - หลักวิชาการ - ข้อสนับสนุน

        ปัญหากฎหมาย 1 ปัญหาอาจมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์และมีความเชื่อมโยงกับทฤษฎี (Theory) ทั้งทฤษฎีทางกฎหมายอาญา (Criminal Law Theory) และทฎษฎีทางอาชญาวิทยา (Criminology Theory) หลายๆ ทฤษฎี รวมทั้งข้อสนับสนุน (Supporting facts) ต่างๆ (เช่น คำพิพากษาศาลฎีกา รายงานผลการวิจัย บทความทางวิชาการ สถิติอ้างอิง) รวมทั้งยังอาจเชื่อมโยงกับเนื้อหาวิชาในเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

         ในที่นี้จะได้อธิบาย "วิธีคิด" โดยหยิบยกกรณีตัวอย่างเรื่อง ปัญหาการกระทำผิดทางอาญาของเด็กและเยาวชน หรือ ปัญหาเด็กและเยาวชนกระทำผิดทางอาญา

ปัญหาเด็กและเยาวชนกระทำผิดทางอาญา

        เรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์เชื่อมโยงไปถึงทฤษฎีและหลักกฎหมายหลายเรื่อง ดังต่อไปนี้

1. ทฤษฎีกฎหมายอาญา*
     ผู้เขียนบทความนำหลักปรัชญาและทฤษฎีกฎหมายอาญามาใช้ โดยมุ่งหมายที่จะใช้ในการอธิบายหลักปรัชญาและหลักวิชาการในการใช้อำนาจรัฐ เพื่อควบคุมและป้องกันภยันตรายแก่บุคคลอื่นและสถาบันทางสังคมที่สำคัญ โดยอาศัยกฎหมายอาญาเป็นเครื่องมือของรัฐในการควบคุมและป้องกัน เพื่อให้สังคมมีความสงบเรียบร้อยเป็นปกติสุข

     หลักปรัชญาและทฤษฎีในการใช้กฎหมายอาญาควบคุมและป้องกันสังคมเ พื่อให้สังคมมีความสงบเรียบร้อยเป็นปกติสุข ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

    1.1 หลักปรัชญาและทฤษฎีเกี่ยวกับการกำหนดความผิดทางอาญา

          1.1.1 ทฤษฎีการป้องกันการกระทำที่อาจเป็นภยันตรายต่อผู้อื่น (Harm to Others) ของ John Stuart Mill
         "..เหตุผลในการใช้อำนาจเหนือบุคคลในสังคมที่เจริญแล้วมีอยู่เพียงประการเดียวเท่านั้นคือการป้องกันภยันตรายอันจะเกิดขึ้นแก่บุคคลอื่น (Harm to Others) " John Stuart Mill

          1.1.2 วัตถุประสงค์ของการบัญญัติกฎหมายอาญา
              - คุ้มครองป้องกันตัวบุคคลให้พ้นจาก..
              - คุ้มครองป้องกันสภาวะจิตใจของสมาชิกในสังคมให้พ้นจาก..
              - คุ้มครองป้องกันทรัพย์สินส่วนบุคคล..
              - คุ้มครองป้องกันสาธารณชน
              - รักษาไว้ซึ่งสถาบันทางสังคม
              - เพื่อบังคับใช้วิธีการต่างๆ

     1.2 ทฤษฎีหลักเกณฑ์ว่าด้วยการจำกัดในการใช้โทษทางอาญา ตามทฤษฎีของซีซาร์ เบคคาเรีย และ เบ็นธัม
              - กฎหมายอาญาไม่ควรรวมเอาไว้ซึ่งข้อห้ามที่มีจุดประสงค์เพียงเพื่อให้บุคคลเชื่อฟัง และผลของการไม่เชื่อฟังคือผลร้ายในทางการแก้แค้นตอบแทนเท่านั้น การป้องกันอาชญากรรมย่อมดีกว่าการลงโทษผู้กระทำผิด (ซีซาร์ เบคคาเรีย Cesare Beccaria)
              - ไม่ควรนำกฎหมายอาญามาใช้เพื่อลงโทษพฤติกรรมที่ปราศจากพิษภัย (เบนธัม Bentham)

      1.3 ทฤษฎีโครงสร้างความรับผิดทางอาญาในระบบกฎหมายซีวิลลอว์ (Civil Law) *

             โครงสร้างความรับผิดทางอาญาในระบบกฎหมายซีวิลลอว์ ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ
              1. องค์ประกอบความผิด - องค์ประกอบภายนอก และ องค์ประกอบภายใน
              2. ความผิดกฎหมาย - ไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิด
              3. ความผิดชั่ว - ไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษ

      1.4 ตัวบทกฎหมายอาญา

            กรณีที่เด็กและเยาวชนกระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด มีบทบัญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องสำคัญคือ ประมวลกฎหมายอาญา

             (1) กรณีที่เด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 10 ปี > "เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ" (มาตรา 73 ประมวลกฎหมายอาญา)

             (2) กรณีที่เด็กและเยาวชนอายุกว่า 10 ปี แต่ยังไม่เกิน 15 ปี > "เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการดังต่อไปนี้..." (มาตรา 74 ประมวลกฎหมายอาญา)

             (3) กรณีที่เด็กและเยาวชนอายุกว่า 15 ปี แต่ต่ำกว่า 18 ปี > "ให้ศาลพิจารณาถึงความรู้ผิดชอบและสิ่งอื่นทั้งปวงเกี่ยวกับผู้นั้น ในอันที่จะควรวินิจฉัยว่าสมควรจะพิพากษาลงโทษผู้นั้นหรือไม่.." (มาตรา 75 ประมวลกฎหมายอาญา)

             (4) กรณีที่เด็กและเยาวชนอายุตั้งแต่ 18 ปี แต่ยังไม่เกิน 20 ปี > "ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นลงหนึ่งในสามหรือกึ่งหนึ่งก็ได้" (มาตรา 76 ประมวลกฎหมายอาญา

*อ้างอิงจาก ณัฐฐ์วัฒน์  สุทธิโยธิน "ทฤษฎีความรับผิดทางอาญา" ใน หน่วยที่ 2 แนวการศึกษาชุดวิชา กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยาชั้นสูง สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  นนทบุรี สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 2555

2. ทฤษฎีอาชญาวิทยา**

    ผู้เขียนบทความนำหลักปรัชญาและทฤษฎีอาชญาวิทยามาใช้ โดยมุ่งหมายที่จะใช้ในการอธิบาย 4 ลักษณะคือ หลักปรัชญาและทฤษฎีอาชญาวิทยาว่าด้วย
       1. การป้องกันสังคมและอาชญากรรม
       2. การดำเนินกระบวนการยุติธรรมที่เหมาะสม
       3. การพิจารณาสาเหตุแห่งอาชญากรรมและการกระทำผิด          
       4. การไขผู้กระทำความผิด  (โดยการลงโทษ การแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ หรือด้วยวิธีการอย่างอื่น)

     ซึ่งมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

     2.1 หลักปรัชญาและทฤษฎีอาชญาวิทยาว่าด้วยการป้องกันสังคมและอาชญากรรม

            2.1.1 หลักปรัชญาและทฤษฎีอาชญาวิทยาสำนักคลาสสิค (Classical School) โดยซีซาร์ เบ็คคาเรีย** ทฤษฎีของซีซาร์ เบ็คคาเรีย ปรากฏในหนังสือชื่อ On Crime and Punishments
     
                     2.1.1.1 หลักปรัชญาว่าด้วยความรับผิดทางอาญาของมนุษย์ในสังคม**
                                 บุคคลต้องรับผิดทางอาญาต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ตามแนวคิดของเบ็คคาเรียที่ว่า "ไม่มีอาชญากรรม เมื่อไม่มีกฎหมาย" (Nullum Crimen Sig Lego) หรือ "ไม่มีกฎหมาย ไม่มีความผิด"

                     2.1.1.2 ทฤษฎีเจตจำนงอิสระ (Free Will Theory)
                                 มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาต่างอิสระในการคิด เลือก และตัดสินใจเกี่ยวกับวิถีชีวิตของตนเอง เรียกว่ามีเจตจำนงอิสระ (Free Will) ในการคิดและตัดสินใจกระทำการอย่างใดๆ ดังนั้น หากมนุษย์กระทำความผิดเขาจึงสมควรต้องได้รับโทษ และมนุษย์ต้องรับผิดทางอาญาเมื่อตนได้กระทำการอันเป็นอันตรายต่อสังคม (Harm to Others) และเมื่ออันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด

            2.1.2 ทฤษฎีการลงโทษเพื่อป้องกัน (Preventive Punishment)** 
                     ซีซาร์ เบ็คคาเรีย อธิบายไว้ว่า
                     (1) การลงโทษมีความจำเป็น เนื่องจากมนุษย์ยังมีความเห็นแก่ตัว คนเราพร้อมที่จะฝ่าฝืนสัญญาประชาคม ถ้าหากสิ่งนั้นก่อให้เกิดประโยชน์ส่วนตัว สำหรับเบ็คคาเรียเห็นว่า มนุษย์ทุกคนสามารถมีพฤติกรรมอาชญากรได้เสมอ
                 (2) เมื่อเป็นดังนั้น การลงโทษจึงไม่ควรปฏิเสธต่อความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ หากแต่ควรส่งเสริม “แรงจูงใจ” ไม่ให้ประโยชน์ของมนุษย์ถูกทำลายโดยกฎหมาย
                 (3) การลงโทษ ควรจะมีไว้เพื่อเป็นการป้องกัน โดยการใช้ความคิดเรื่องการข่มขู่ยับยั้ง (Deterrence) ซึ่งการข่มขู่ยับยั้งแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
                      ก. การข่มขู่ยับยั้งโดยเฉพาะ (Specific Deterrence) เป็นการลงโทษผู้กระทำผิดรายบุคคลเพื่อยับยั้งมิให้เขากระทำผิดซ้ำ 
                      ข. การข่มขู่ยับยั้งโดยทั่วไป (General Deterrence) เป็นการลงโทษผู้กระทำผิดเพื่อเป็นตัวอย่างแก่บุคคลอื่นในสังคมทั่วไปได้เห็นผลร้ายของการกระทำผิด เพื่อยับยั้งมิให้เขากระทำผิด เพราะเกรงกลัวโทษที่จะได้รับ
                  (4) การข่มขู่ยับยั้ง (Deterrence) การลงโทษเพื่อเป็นการข่มขู่ยับยั้งการกระทำผิดขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสองประการคือ
                      ก. การลงโทษจะต้องได้สัดส่วนกับอาชญากรรม
                            ข. สาธารณชนจะต้องได้รับรู้เข้าใจอย่างแน่ชัดเกี่ยวกับการลงโทษนั้น   

     2.2 หลักปรัชญาและทฤษฎีอาชญาวิทยาว่าด้วยการดำเนินกระบวนการยุติธรรมที่เหมาะสม

            2.2.1ทฤษฎีอาชญาวิทยาสำนักนีโอคลาสสิค (Neoclassical School) โดย รอสซี่ การ์ราดและจอลี่

                     รอสซี่ การ์ราด และ จอลี่ แห่งสำนักอาชญาวิทยานีโอคลาสสิค ได้วางหลักทฤษฎีเกี่ยวกับการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมไว้ดังนี้

                     (1) ให้นำพฤติการณ์แห่งคดีมาใช้เพื่อประกอบการพิจารณาคดีเพื่อพิพากษาลงโทษอย่างเหมาะสม

                     (2) ให้ศาลตระหนักถึงความจำเป็นในการพิจารณาถึงความจำเป็นในการพิจารณาถึงภูมิหลังของผู้กระทำผิด ไม่จำกัดอยู่เพียงแค่เฉพาะพฤติกรรมในขณะที่กระทำผิดเท่านั้น

                     (3) ขอให้กระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะศาล รับฟังคำให้การของผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ชำนาญการในบางสาขาวิชา เช่น สาขาแพทยศาสตร์ สาขานิติเวช เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาคดีได้อย่างถ่องแท้ยิ่งขึ้น

                     (4) ขอให้กระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะศาล ให้ความสนใจกับกลุ่มบุคคลที่อาจมีความรัผิดทางอาญาแตกต่างจากบุคคลโดยทั่วไป ซึ่งกลุ่มบุคคลที่จัดเป็นกรณีพิเศษนี้ไม่สามารถกำหนดเจตจำนงอิสระได้ทัดเทียมกับบุคคลอื่น และสมควรที่กฎหมายจะให้ความปรานีและผ่อนปรนในการลงโทษ

                     ประเทศที่เจริญก้าวหน้าในทางกฎหมาย เช่น ฝรั่งเศสได้รับเอาแนวทฤษฎีของสำนักอาชญาวิทยานีโอคลาสสิคนี้ไปใช้ในการปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญา ในปี ค.ศ. 1810 และ ค.ศ. 1819 แต่ยังคงรักษาหลักการของสำนักอาชญาวิทยาคลาดสิคไว้โดยไม่เปลี่ยนแปลง

     2.3 หลักปรัชญาและทฤษฎีอาชญาวิทยาว่าด้วยสาเหตุแห่งอาชญากรรมและการกระทำผิด

            ทฤษฎีการตีตรา (Label Theory)**

           บุคคลในสังคม รวมทั้งกระบวนการยุติธรรม กำหนดความหมายให้แก่ผู้อื่น ว่าเป็นผู้มีพฤติกรรมเบี่ยงเบน หรือมีพฤติกรรมเป็นอาชญากร การกำหนดความหมายอาศัยการสื่อสารเพื่อให้สังคมรับรู้ความหมายนั้น ปฏิกริยาการตอบโต้ทางสังคมที่สังคมกระทำต่อบุคคลนั้น เป็นตัวการสำคัญในการสร้างพฤติกรรมเบี่ยงเบน หรือพฤติกรรมอาชญากร แฟรงค์ เทนเนนบาม (Frank Tennenbaum) อธิบายว่า แม้อาชญากรรมจะเป็นสิ่งที่ชั่วร้าย แต่หากสังคมผลักดันให้ผู้กระทำผิดหรืออาชญากรถลำลึกลงไปอีก จะกลายเป็นภัยต่อส่วนรวมมากขึ้น จนไม่อาจจะยอมให้ผู้กระทำผิดกลับตัวเป็นคนดี

            เชอร์ (Shure) อธิบายว่า การตีตราแบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ
            (1) การตีตราในระดับกลุ่มผู้สร้างกฎหมาย
            (2) การตีตราในระดับกระบวนยุติธรรม
            (3) การตีตราในระดับตัวบุคคล

            เมื่อผู้กระทำผิดถูกตีตรา เชอร์ อธิบายว่าบุคคลจะตอบสนองต่อการตีตรา 3 ลักษณะคือ
            (1) ฝังไว้ในความคิด (stereotyping)
            (2) ตีความย้อนหลัง (retrospective interpretation)
            (3) เจรจาต่อรอง (negotiation)

     2.4 หลักปรัชญาและทฤษฎีอาชญาวิทยาว่าด้วยการแก้ไขผู้กระทำผิด
           2.4.1 การลงโทษ (Punishment)
           2.4.2 การแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด (Reformation)
           2.4.3 ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice)
           2.4.4 วิธีการอย่างอื่น (Other method)

**อ้างอิงจาก ณัฐฐ์วัฒน์  สุทธิโยธิน "ทฤษฎีอาชญาวิทยา" ใน หน่วยที่ 5 แนวการศึกษาชุดวิชา กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยาชั้นสูง สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  นนทบุรี สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 2555

3. นโยบายทางอาญา
      
      ศึกษาเพิ่มเติมใน "นโยบายทางอาญา" ใน หน่วยที่ 11 แนวการศึกษาชุดวิชา กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยาชั้นสูง สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  นนทบุรี สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 2555

4. การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายอาญา
      
      ศึกษาเพิ่มเติมใน "การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายอาญา" ใน หน่วยที่ 12 แนวการศึกษาชุดวิชา กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยาชั้นสูง สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  นนทบุรี สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 2555

        จะเห็นได้ว่า ปัญหากฎหมายเพียงปัญหาเดียวคือ ปัญหาเด็กและเยาวชนกระทำผิดทางอาญา มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์เชื่อมโยงไปถึงทฤษฎีและหลักกฎหมายหลายเรื่อง ดังที่กล่าวถึงข้างต้น หากนักศึกษามีความเข้าใจภาพรวมของการศึกษาในเรื่อง กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา จะสามารถหยิบยก "ความรู้" ในส่วนต่างๆ มาเชื่อมโยงบูรณาการกัน นำไปสู่การอธิบาย (explain) เพื่อการทำความเข้าใจปัญหา (problems) และการนำไปสู่การแก้ไขปัญหา (solving) อันเป็นการแสดงความรู้ความสามารถในการวิเคราะห์ขั้นสูง ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านมองเห็นถึงระดับความรู้ความสามารถในขั้นสูงของนักศึกษาได้เป็นอย่างดี

5. ข้อสนับสนุน (Supporting Facts)
        นอกจากการอาศัยหลักปรัชญา ทฤษฎีอาญา ทฤษฎีอาชญาวิทยา ตัวบทกฎหมาย หลักวิชาการแล้ว นักศึกษายังสามารถอ้างถึงข้อมูลเพื่อนำมาใช้สนับสนุนการแสดงความคิดของนักศึกษาได้หนักแน่น น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น โดยการนำคำพิพากษาศาลฎีกามาสนับสนุน การนำสถิติข้อมูล เช่น สถิติการกระทำผิด การกระทำผิดซ้ำ มาใช้อ้างอิงสนับสนุนได้

        บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อส่งเสริมความสามารถในการเรียนรู้ เพื่อเพิ่มศักยภาพของผู้เรียนในด้านการคิดวิเคราะห์ และวิพากษ์ให้แก่ผู้สนใจทุกท่าน ผู้เขียนยินดีให้นำข้อมูลในบทความนี้ไปใช้ในการศึกษา การปฏิบัติงาน การวิจัย และการเผยแพร่เพื่อประโยชน์ด้านต่างๆ และขอความกรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ

       ด้วยความปรารถนาดี

       รองศาสตราจารย์ณัฐฐ์วัฒน์  สุทธิโยธิน
       3 พฤษภาคม 2557
       15.59 น.

หลักทฤษฎีทางอาชญาวิทยาและทฤษฎีอาญาแอบแฝงอยู่ในคำพิพากษาฎีกาสำคัญ


ทฤษฎีทางอาชญาวิทยา และ ทฤษฎีทางกฎหมายอาญา แอบแฝงอยู่ในคำพิพากษาฎีกาสำคัญ

เราต้องอ่าน "ความหมายระว่างบรรทัด" ให้ออก

ความหมายระหว่างบรรทัด จะบ่งบอก "ทฤษฎี" ที่ศาลใช้ในการวิเคราะห์ วินิจฉัย สรุป พิพากษา และตัดสิน

"ความหมาย" นี้แอบแฝงซ่อนตัวอยู่ในถ้อยคำ (word) ประโยค (sentence) วลี (phrase) ที่ศาลใช้

     - อธิบาย (explain)
     - โต้แย้ง (argument)
     - อ้างอิง (reference)
     - ยืนยัน (confirm)
     - สนับสนุน (support)

เพื่อการอธิบาย โต้แย้ง อ้างอิง ยืนยัน และสนับสนุน ความคิดเห็นของศาลฎีกา

รองศาสตราจารย์ณัฐฐ์วัฒน์  สุทธิโยธิน
3 พฤษภาคม 2557
11.52 น.

หลักและวิธีการเขียนตอบอัตนัยวิชากฎหมายระดับปริญญาโท (ตอนที่ 3) ว่าด้วยรูปแบบการเขียน

หลักและวิธีการเขียนตอบอัตนัยวิชากฎหมายระดับปริญญาโท (ตอนที่ 3) ว่าด้วยรูปแบบการเขียน

การเขียนตอบข้อสอบอัตนัยวิชากฎหมายระดับปริญญาโท ผู้ตอบข้อสอบจะต้องแสดงความรู้ความสามารถให้อาจารย์ผู้ตรวจข้อสอบเห็นว่าผู้ตอบข้อสอบนั้นมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาวิชาที่ศึกษาอย่างลึกซึ้ง สามารถตั้งประเด็นปัญหา วิเคราะห์ประเด็นปัญหา โดยอาศัยทฤษฎี อาศัยหลักกฎหมาย อาศัยหลักฐานอ้างอิงยืนยันความคิดของผู้ตอบ เช่น คำพิพากษาของศาลฎีกา แนวคิดของนักวิชาการในบทความ ตำรา รายงานผลการวิจัย มาสนับสนุนความคิดของตน

วิธีการที่จะแสดงอาจารย์ผู้ตรวจข้อสอบประจักษ์แจ้งถึงความรู้ความสามารถของผู้ตอบข้อสอบ ต้องอาศัยรูปแบบการเขียนตอบที่ช่วยในการจัดระเบียบเนืื้อหาสาระให้เป็นระบบ เป็นระเบียบ เป็นหมดเป็นหมู่ จัดเรียงลำดับเนื้อหาก่อนหลังอย่างเหมาะสม การเขียนตอบข้อสอบอัตนัยวิชากฎหมายระดับปริญญาโท มีรูปแบบดังต่อไปนี้

รูปแบบที่ 1 รูปแบบตามขนบธรรมเนียม (Traditional pattern)

การเขียนตอบข้อสอบรูปแบบนี้ ลำดับแรก จะเริ่มต้นด้วยการวางทฤษฎี หลักการ ตัวบทกฎหมาย ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่เราจะตอบไว้ในส่วนแรกสุด ลำดับที่สองต่อมาจึงเขียนวิเคราะห์โจทย์และตั้งประเด็นในการตอบไว้ว่ามีกี่ประเด็น มีประเด็นอะไรบ้าง ลำดับที่สามจึงเขียนวิเคราะห์ทีละประเด็นตามลำดับจนครบทุกประเด็น ลำดับที่สี่เขียนบทสรุปของผลการวิเคราะห์ทั้งหมด

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นจึงจำลองรูปแบบได้ดังนี้


> ทฤษฎี-หลักกฎหมาย >  วิเคราะห์โจทย์และตั้งประเด็น >

        > เขียนวิเคราะห์ประเด็นที่หนึ่ง
        > เขียนวิเคราะห์ประเด็นที่สอง
        > เขียนวิเคราะห์ประเด็นที่สาม
        > เขียนวิเคราะห์ประเด็นที่...

> สรุปผลการวิเคราะห์โดยภาพรวม (ครบทุกประเด็น)

รูปแบบที่ 2 รูปแบบร่วมสมัย (Contemporary pattern)

การเขียนตอบข้อสอบรูปแบบนี้ ลำดับแรกจะเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์โจทย์และตั้งประเด็นว่ามีกี่ประเด็น มีประเด็นอะไรบ้าง ลำดับที่สองจะทำการวิเคราะห์รายประเด็น โดยการเขียนวิเคราะห์ประเด็นแรก แล้วตามด้วยทฤษฎี หลักการ ตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนั้น แล้วทำการวิเคราะห์ประเด็นนั้น กล่าวได้ว่าวิเคราะห์ให้จบทีละประเด็นเสร็จสิ้นในตัวเอง มีทั้งประเด็น ทฤษฎี การวิเคราะห์ และผลสรุปเบ็ดเสร็จในประเด็นนั้น เมื่อเสร็จประเด็นแรกแล้วก็จะทำการวิเคราะห์ประเด็นที่สอง ประเด็นที่สาม จนครบถ้วนทุกประเด็น

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นจึงจำลองรูปแบบได้ดังนี้

>วิเคราะห์โจทย์และตั้งประเด็น (ครบทุกประเด็น) >

        > ประเด็นที่หนึ่ง > ทฤษฎี-หลักกฎหมาย > เขียนวิเคราะห์ประเด็นที่หนึ่ง > สรุปผลการวิเคราะห์ของประเด็นที่หนึ่ง

        > ประเด็นที่สอง > ทฤษฎี-หลักกฎหมาย > เขียนวิเคราะห์ประเด็นที่สอง > สรุปผลการวิเคราะห์ของประเด็นที่สอง

        > ประเด็นที่สาม > ทฤษฎี-หลักกฎหมาย > เขียนวิเคราะห์ประเด็นที่สาม > ผลสรุปของประเด็นที่สาม

        > ประเด็นที่... > ทฤษฎี-หลักกฎหมาย > เขียนวิเคราะห์ประเด็นที่... > สรุปผลการวิเคราาะห์ของประเด็นที่...

> บทสรุปผลการวิเคราะห์โดยภาพรวม (ครบทุกประเด็น)

รูปแบบที่ 3 รูปแบบบูรณาการ (Integration pattern)

การเขียนตอบข้อสอบรูปแบบนี้ ลำดับแรกจะมีการวิเคราะห์โจทย์และตั้งประเด็น แต่ในส่วนของการวิเคราะห์จะมีความแตกต่างออกไปจากรูปแบบที่ 1 และรูปแบบที่ 2 นั่นคือจะเริ่มจะไม่มีการวางทฤษฎี หลักการ ตัวบทกฎหมายแยกไว้ให้เห็นอย่างชัดเจน แต่จะเขียนผสมปะปนไปกับเนื้อหาของการวิเคราะห์ไล่ไปทีละประเด็นจนครบทุกประเด็น ในทำนองเขียนไปวิเคราะห์ไป หาทฤษฎีและหลักกฎหมายมาสนับสนุนไปเป็นเรื่องๆ

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นจึงจำลองรูปแบบได้ดังนี้

> วิเคราะห์โจทย์และตั้งประเด็น (ครบทุกประเด็น) >

ประเด็นที่หนึ่ง > ประเด็น / วิเคราะห์ / ทฤษฎี-หลักกฎหมาย  > สรุปผลการวิเคราะห์ประเด็นที่หนึ่ง

ประเด็นที่สอง > ประเด็น / วิเคราะห์ / ทฤษฎี-หลักกฎหมาย > สรุปผลการวิเคราะห์ประเด็นที่สอง

ประเด็นที่สาม > ประเด็น / วิเคราะห์ / ทฤษฎี-หลักกฎหมาย > สรุปผลการวิเคราะห์ประเด็นที่สาม

ประเด็นที่... > ประเด็น / วิเคราะห์ / ทฤษฎี-หลักกฎหมาย > สรุปผลการวิเคราะห์ประเด็นที่....


> บทสรุปผลการวิเคราะห์โดยภาพรวม (ครบทุกประเด็น)


รูปแบบที่ 4 รูปแบบอิสระ (Free form pattern)

การเขียนตอบข้อสอบรูปแบบนี้ จะแตกต่างกับทุกรูปแบบที่กล่าวถึงข้างต้น จุดแตกต่างที่สำคัญคือ จะไม่มีการวิเคราะห์โจทย์และตั้งประเด็นไว้ที่ส่วนหัว จะไม่มีการวางทฤษฎีและหลักกฎหมายไว้ให้เห็นชัดเจน แต่จะเขียนวิเคราะห์ไปทีละประเด็นตามที่คิดได้ตั้งแต่ต้นจนจบครบทุกประเด็นที่คิดได้ และมักจะไม่มีส่วนที่เป็นบทสรุปโดยภาพรวม

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นจึงจำลองรูปแบบได้ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง > ประเด็น / วิเคราะห์ / ทฤษฎี-หลักกฎหมาย > สรุปผลการวิเคราะห์

ประเด็นที่สอง > ประเด็น / วิเคราะห์ / ทฤษฎี-หลักกฎหมาย > สรุปผลการวิเคราะห์

ประเด็นที่สาม > ประเด็น / วิเคราะห์ / ทฤษฎี-หลักกฎหมาย > สรุปผลการวิเคราะห์

ประเด็นที่... > ประเด็น / วิเคราะห์ / ทฤษฎี-หลักกฎหมาย > สรุปผลการวิเคราะห์


เนื่องจากการเขียนตอบข้อสอบอัตนัยวิชากฎหมายในระดับปริญญาโท ในแต่ละประเด็นจะมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน และที่สำคัญการตอบในแต่ละประเด็น อาจใช้ทฤษฎีและหลักกฎหมายมากกว่าหนึ่งทฤษฎีหรือมากกว่าหนึ่งหลักกฎหมาย โดยส่วนตัวของผู้เขียนบทความนี้ จึงไม่สนับสนุนให้เขียนด้วยรูปแบบที่หนึ่ง เนื่องจากในระยะเวลาอันสั้นเป็นการยากที่จะคิดทฤษฎีและหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้ในคราวเดียว และนำมาเขียนไว้ครบถ้วนทั้งหมดในส่วนหัว บางทฤษฎีและบางหลักกฎหมายเพิ่งมาคิดได้ในระหว่างการเขียนตอบแต่ละประเด็น จึงอาจทำให้ยุ่งยากในการแก้ไข การเขียนด้วยรูปแบบที่สอง

โดยส่วนตัวผู้เขียนนิยมวิธีการเขียนตอบด้วยรูปแบบที่สองหรือรูปแบบที่สามมากกว่า ซึ่งจะทำให้สามารถจัดระบบระเบียบของโครงสร้างการเขียนตอบได้กระจ่างชัดยิ่งขึ้น ผู้ตอบสามารถแสดงความรู้ความสามารถได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

แต่รูปแบบที่ผู้เขียนไม่สนับสนุนให้นำมาใช้ในการเขียนตอบข้อสอบอัตนัยวิชากฎหมายในระดับปริญญาโทคือ รูปแบบที่สี่ เพราะขาดความชัดเจนในการตั้งประเด็น ขาดบทสรุปผลการวิเคราะห์ที่ชัดเจน

อย่างไรก็ดี รูปแบบการเขียนตอบข้อสอบอัตนัยวิชากฎหมายในระดับปริญญาโทที่ผู้เขียนบทความนำเสนอมาทั้งหมดนี้ มิได้ถือว่าเป็นบทบังคับให้นักศึกษาต้องเลือกใช้รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แล้วจึงจะได้คะแนนดี เป็นแต่เพียงข้อเสนอแนะอันเกิดขึ้นจากความรู้และประสบการณ์ของผู้เขียนบทความนี้ ที่ได้นำมาเสนอแนะไว้เพื่อเป็นความรู้ และเป็นแนวทางในการพิจารณาเลือกนำไปใช้ตามความเหมาะสมแห่งโอกาส และความคิดเห็นและของนักศึกษาแต่ละคนที่อาจมีความคิดสร้างสรรค์เป็นการเฉพาะบุคคล

รองศาสตราจารย์ณัฐฐ์วัฒน์  สุทธิโยธิน
3 พฤษภาคม 2557
9.19 น.