วันเสาร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

หลักและวิธีการเขียนตอบอัตนัยวิชากฎหมายระดับปริญญาโท (ตอนที่ 3) ว่าด้วยรูปแบบการเขียน

หลักและวิธีการเขียนตอบอัตนัยวิชากฎหมายระดับปริญญาโท (ตอนที่ 3) ว่าด้วยรูปแบบการเขียน

การเขียนตอบข้อสอบอัตนัยวิชากฎหมายระดับปริญญาโท ผู้ตอบข้อสอบจะต้องแสดงความรู้ความสามารถให้อาจารย์ผู้ตรวจข้อสอบเห็นว่าผู้ตอบข้อสอบนั้นมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาวิชาที่ศึกษาอย่างลึกซึ้ง สามารถตั้งประเด็นปัญหา วิเคราะห์ประเด็นปัญหา โดยอาศัยทฤษฎี อาศัยหลักกฎหมาย อาศัยหลักฐานอ้างอิงยืนยันความคิดของผู้ตอบ เช่น คำพิพากษาของศาลฎีกา แนวคิดของนักวิชาการในบทความ ตำรา รายงานผลการวิจัย มาสนับสนุนความคิดของตน

วิธีการที่จะแสดงอาจารย์ผู้ตรวจข้อสอบประจักษ์แจ้งถึงความรู้ความสามารถของผู้ตอบข้อสอบ ต้องอาศัยรูปแบบการเขียนตอบที่ช่วยในการจัดระเบียบเนืื้อหาสาระให้เป็นระบบ เป็นระเบียบ เป็นหมดเป็นหมู่ จัดเรียงลำดับเนื้อหาก่อนหลังอย่างเหมาะสม การเขียนตอบข้อสอบอัตนัยวิชากฎหมายระดับปริญญาโท มีรูปแบบดังต่อไปนี้

รูปแบบที่ 1 รูปแบบตามขนบธรรมเนียม (Traditional pattern)

การเขียนตอบข้อสอบรูปแบบนี้ ลำดับแรก จะเริ่มต้นด้วยการวางทฤษฎี หลักการ ตัวบทกฎหมาย ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่เราจะตอบไว้ในส่วนแรกสุด ลำดับที่สองต่อมาจึงเขียนวิเคราะห์โจทย์และตั้งประเด็นในการตอบไว้ว่ามีกี่ประเด็น มีประเด็นอะไรบ้าง ลำดับที่สามจึงเขียนวิเคราะห์ทีละประเด็นตามลำดับจนครบทุกประเด็น ลำดับที่สี่เขียนบทสรุปของผลการวิเคราะห์ทั้งหมด

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นจึงจำลองรูปแบบได้ดังนี้


> ทฤษฎี-หลักกฎหมาย >  วิเคราะห์โจทย์และตั้งประเด็น >

        > เขียนวิเคราะห์ประเด็นที่หนึ่ง
        > เขียนวิเคราะห์ประเด็นที่สอง
        > เขียนวิเคราะห์ประเด็นที่สาม
        > เขียนวิเคราะห์ประเด็นที่...

> สรุปผลการวิเคราะห์โดยภาพรวม (ครบทุกประเด็น)

รูปแบบที่ 2 รูปแบบร่วมสมัย (Contemporary pattern)

การเขียนตอบข้อสอบรูปแบบนี้ ลำดับแรกจะเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์โจทย์และตั้งประเด็นว่ามีกี่ประเด็น มีประเด็นอะไรบ้าง ลำดับที่สองจะทำการวิเคราะห์รายประเด็น โดยการเขียนวิเคราะห์ประเด็นแรก แล้วตามด้วยทฤษฎี หลักการ ตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนั้น แล้วทำการวิเคราะห์ประเด็นนั้น กล่าวได้ว่าวิเคราะห์ให้จบทีละประเด็นเสร็จสิ้นในตัวเอง มีทั้งประเด็น ทฤษฎี การวิเคราะห์ และผลสรุปเบ็ดเสร็จในประเด็นนั้น เมื่อเสร็จประเด็นแรกแล้วก็จะทำการวิเคราะห์ประเด็นที่สอง ประเด็นที่สาม จนครบถ้วนทุกประเด็น

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นจึงจำลองรูปแบบได้ดังนี้

>วิเคราะห์โจทย์และตั้งประเด็น (ครบทุกประเด็น) >

        > ประเด็นที่หนึ่ง > ทฤษฎี-หลักกฎหมาย > เขียนวิเคราะห์ประเด็นที่หนึ่ง > สรุปผลการวิเคราะห์ของประเด็นที่หนึ่ง

        > ประเด็นที่สอง > ทฤษฎี-หลักกฎหมาย > เขียนวิเคราะห์ประเด็นที่สอง > สรุปผลการวิเคราะห์ของประเด็นที่สอง

        > ประเด็นที่สาม > ทฤษฎี-หลักกฎหมาย > เขียนวิเคราะห์ประเด็นที่สาม > ผลสรุปของประเด็นที่สาม

        > ประเด็นที่... > ทฤษฎี-หลักกฎหมาย > เขียนวิเคราะห์ประเด็นที่... > สรุปผลการวิเคราาะห์ของประเด็นที่...

> บทสรุปผลการวิเคราะห์โดยภาพรวม (ครบทุกประเด็น)

รูปแบบที่ 3 รูปแบบบูรณาการ (Integration pattern)

การเขียนตอบข้อสอบรูปแบบนี้ ลำดับแรกจะมีการวิเคราะห์โจทย์และตั้งประเด็น แต่ในส่วนของการวิเคราะห์จะมีความแตกต่างออกไปจากรูปแบบที่ 1 และรูปแบบที่ 2 นั่นคือจะเริ่มจะไม่มีการวางทฤษฎี หลักการ ตัวบทกฎหมายแยกไว้ให้เห็นอย่างชัดเจน แต่จะเขียนผสมปะปนไปกับเนื้อหาของการวิเคราะห์ไล่ไปทีละประเด็นจนครบทุกประเด็น ในทำนองเขียนไปวิเคราะห์ไป หาทฤษฎีและหลักกฎหมายมาสนับสนุนไปเป็นเรื่องๆ

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นจึงจำลองรูปแบบได้ดังนี้

> วิเคราะห์โจทย์และตั้งประเด็น (ครบทุกประเด็น) >

ประเด็นที่หนึ่ง > ประเด็น / วิเคราะห์ / ทฤษฎี-หลักกฎหมาย  > สรุปผลการวิเคราะห์ประเด็นที่หนึ่ง

ประเด็นที่สอง > ประเด็น / วิเคราะห์ / ทฤษฎี-หลักกฎหมาย > สรุปผลการวิเคราะห์ประเด็นที่สอง

ประเด็นที่สาม > ประเด็น / วิเคราะห์ / ทฤษฎี-หลักกฎหมาย > สรุปผลการวิเคราะห์ประเด็นที่สาม

ประเด็นที่... > ประเด็น / วิเคราะห์ / ทฤษฎี-หลักกฎหมาย > สรุปผลการวิเคราะห์ประเด็นที่....


> บทสรุปผลการวิเคราะห์โดยภาพรวม (ครบทุกประเด็น)


รูปแบบที่ 4 รูปแบบอิสระ (Free form pattern)

การเขียนตอบข้อสอบรูปแบบนี้ จะแตกต่างกับทุกรูปแบบที่กล่าวถึงข้างต้น จุดแตกต่างที่สำคัญคือ จะไม่มีการวิเคราะห์โจทย์และตั้งประเด็นไว้ที่ส่วนหัว จะไม่มีการวางทฤษฎีและหลักกฎหมายไว้ให้เห็นชัดเจน แต่จะเขียนวิเคราะห์ไปทีละประเด็นตามที่คิดได้ตั้งแต่ต้นจนจบครบทุกประเด็นที่คิดได้ และมักจะไม่มีส่วนที่เป็นบทสรุปโดยภาพรวม

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นจึงจำลองรูปแบบได้ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง > ประเด็น / วิเคราะห์ / ทฤษฎี-หลักกฎหมาย > สรุปผลการวิเคราะห์

ประเด็นที่สอง > ประเด็น / วิเคราะห์ / ทฤษฎี-หลักกฎหมาย > สรุปผลการวิเคราะห์

ประเด็นที่สาม > ประเด็น / วิเคราะห์ / ทฤษฎี-หลักกฎหมาย > สรุปผลการวิเคราะห์

ประเด็นที่... > ประเด็น / วิเคราะห์ / ทฤษฎี-หลักกฎหมาย > สรุปผลการวิเคราะห์


เนื่องจากการเขียนตอบข้อสอบอัตนัยวิชากฎหมายในระดับปริญญาโท ในแต่ละประเด็นจะมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน และที่สำคัญการตอบในแต่ละประเด็น อาจใช้ทฤษฎีและหลักกฎหมายมากกว่าหนึ่งทฤษฎีหรือมากกว่าหนึ่งหลักกฎหมาย โดยส่วนตัวของผู้เขียนบทความนี้ จึงไม่สนับสนุนให้เขียนด้วยรูปแบบที่หนึ่ง เนื่องจากในระยะเวลาอันสั้นเป็นการยากที่จะคิดทฤษฎีและหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้ในคราวเดียว และนำมาเขียนไว้ครบถ้วนทั้งหมดในส่วนหัว บางทฤษฎีและบางหลักกฎหมายเพิ่งมาคิดได้ในระหว่างการเขียนตอบแต่ละประเด็น จึงอาจทำให้ยุ่งยากในการแก้ไข การเขียนด้วยรูปแบบที่สอง

โดยส่วนตัวผู้เขียนนิยมวิธีการเขียนตอบด้วยรูปแบบที่สองหรือรูปแบบที่สามมากกว่า ซึ่งจะทำให้สามารถจัดระบบระเบียบของโครงสร้างการเขียนตอบได้กระจ่างชัดยิ่งขึ้น ผู้ตอบสามารถแสดงความรู้ความสามารถได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

แต่รูปแบบที่ผู้เขียนไม่สนับสนุนให้นำมาใช้ในการเขียนตอบข้อสอบอัตนัยวิชากฎหมายในระดับปริญญาโทคือ รูปแบบที่สี่ เพราะขาดความชัดเจนในการตั้งประเด็น ขาดบทสรุปผลการวิเคราะห์ที่ชัดเจน

อย่างไรก็ดี รูปแบบการเขียนตอบข้อสอบอัตนัยวิชากฎหมายในระดับปริญญาโทที่ผู้เขียนบทความนำเสนอมาทั้งหมดนี้ มิได้ถือว่าเป็นบทบังคับให้นักศึกษาต้องเลือกใช้รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แล้วจึงจะได้คะแนนดี เป็นแต่เพียงข้อเสนอแนะอันเกิดขึ้นจากความรู้และประสบการณ์ของผู้เขียนบทความนี้ ที่ได้นำมาเสนอแนะไว้เพื่อเป็นความรู้ และเป็นแนวทางในการพิจารณาเลือกนำไปใช้ตามความเหมาะสมแห่งโอกาส และความคิดเห็นและของนักศึกษาแต่ละคนที่อาจมีความคิดสร้างสรรค์เป็นการเฉพาะบุคคล

รองศาสตราจารย์ณัฐฐ์วัฒน์  สุทธิโยธิน
3 พฤษภาคม 2557
9.19 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น